วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

โรคที่มากับหน้าร้อน

-->
เมืองไทยหน้าร้อน นอกจากอากาศจะร้อนจัดแล้ว โรคที่มากับฤดูร้อนจำเป็นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น


อาหารเป็นพิษ
สาเหตุ : โรคทางเดินอาหารที่พบบ่อยมาก เนื่องจากสารพิษ (Toxin) จากแบคทีเรียตกค้างอยู่ในอาหารที่ไม่สะอาดพอ สุกๆ ดิบๆ หรือบูดเสีย ทำให้เกิดปัญหาท้องเสียได้

การรักษา : ส่วนใหญ่หากเป็นไม่มากจะถ่ายเป็นน้ำไม่มีมูกเลือด ไม่มีไข้ หายได้เอง แต่ถ้าเป็นมากต้องได้รับน้ำเกลือเสริม อาจอยู่ในรูปแบบของการดื่ม หรือการให้ทางเส้นเลือดแล้วแต่ความรุนแรง

อหิวาตกโรค
สาเหตุ : โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้ออหิวาต์จะไม่มีอาการหรือมีไม่มาก แต่ในรายที่ติดเชื้อรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดอาการ เนื่องจากมีการสูญเสียของน้ำและเกลือแร่ในปริมาณมาก โรคนี้ติดต่อได้โดยการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อเข้าไป

การรักษา : ควรทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไปกับการถ่ายอุจจาระและการอาเจียน เช่น ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือ แต่หากรุนแรงต้องให้ทางเส้นเลือด ควบคู่กับการใช้ยาปฏิชีวนะ

ไข้ไทฟอยด์
สาเหตุ : การติดต่อมักเกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อในอาหารหรือน้ำดื่ม ซึ่งไข้ไทฟอยด์จะมีอาการแบบเฉียบพลัน รายที่เป็นรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อ Samonella typhi อาการของโรคจะมีไข้ ปวดเนื้อปวดตัว คลื่นไส้ หัวใจเต้นช้าลง (โดยทั่วไปแล้วเวลามีไข้จะเต้นเร็วขึ้น) หากให้แพทย์ตรวจอาจพบว่าม้ามโต บริเวณใต้ชายโครงด้านซ้าย ต้องใช้การตรวจเลือดยืนยันว่าเป็นโรคนี้จริง

การรักษา : จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม ส่วนการป้องกันสามารถทำได้โดยการใช้วัคซีนซึ่งมีทั้งในรูปของการรับประทานหรือฉีด แต่การป้องกันไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือการระมัดระวังเรื่องอาหารและน้ำดื่ม

ไวรัสตับอักเสบชนิด A
สาเหตุ : โดยทั่วไปจะติดต่อผ่านทางคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง โดยการปนเปื้อนไปกับน้ำ น้ำแข็ง ผลไม้ หรืออาหารที่รับประทานโดยไม่ผ่านการหุงต้ม โดยอาการที่เกิดขึ้นคือ มีไข้ ปวดเนื้อปวดตัว คลื่นไส้ อาเจียน ไม่สบายภายในท้อง จากนั้น 2-3 วันก็จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง คนที่เป็นโรคอาจไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย 1-2 อาทิตย์ กรณีที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการนานหลายเดือน
การรักษา : เชื้อไวรัสตับอักเสบ A จะตายเมื่อโดนความร้อน ด้วยการต้มหรือหุงที่อุณหภูมิ 85 องศาเซลเซียส อย่างน้อยหนึ่งนาที การป้องกันสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีน

Tips กินน้ำให้ปลอดภัยในหน้าร้อน
ในหน้าร้อนควรดื่มน้ำให้มากๆ ยกเว้นผู้ป่วยโรคไตหรือโรคหัวใจบางชนิด เพราะผู้เป็นโรคไตเมื่อดื่มน้ำถึงระดับหนึ่งจะไม่สามารถปัสสาวะออกได้ หรือปัสสาวะได้เพียงเล็กน้อย หากดื่มน้ำเข้าไปมาก จะทำให้น้ำคั่งและท่วมปอดได้ ส่วนโรคหัวใจวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง หากดื่มน้ำเข้าไปมากๆ จะทำให้ปริมาณเลือดในร่างกายมาก ทำให้หัวใจต้องสูบฉีดมากขึ้น ก็จะทำให้หัวใจแย่ลง

การดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการในหน้าร้อน คือวันละประมาณ 1.5-2 ลิตร

วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2553

การนอนกัดฟัน

อาการนอนกัดฟันที่เกิดขึ้นมานั้นอาจจะไม่มีผลเสียใดๆต่อโครงสร้างต่างๆภายในช่องปากเลย หรืออาจจะทำให้เกิดอาการต่างๆขึ้นได้มากมายเลยก็ได้ อาการที่มักจะเกิดเมื่อมีอาการนอนกัดฟัน คือ ฟันสึกอย่างรุนแรง , เกิดอาการปวด ตึง หรืออ่อนแรงของกล้ามเนื้อ , เกิดความผิดปกติที่ข้อต่อขากรรไกร , อาการปวดศีรษะ , อาจพบว่าในผู้ที่ใส่ปลอมแบบติดแน่นอยู่ ฟันปลอมที่ใส่อาจจะถูกทำลายลงในระยะเวลาเพียง 6-9 เดือน , อ้าปากไม่ขึ้น , มีเสียงดังที่ข้อต่อขากรรไกรขณะอ้าหรือหุบปาก ซึ่งอาการต่างๆเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเพียงอาการใดอาการหนึ่ง หรือเกิดพร้อมๆกันทุกอาการเลยก็ได้ ลักษณะการเกิดอาการนอนกัดฟัน จะมีความแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย และพบว่าแม้แต่ในผู้ป่วยคนเดียวกัน จะมีอาการนอนกัดฟันที่แตกต่างกันไป ในการนอนแต่ละคืนอีกด้วย พบว่าการนอนกัดฟันมีแนวโน้มที่จะสัมพันธ์ กับความเครียดในชีวิตประจำวัน หรือเกิดในช่วงชีวิตของผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านร่างกาย หรือจิตใจ ในผู้ป่วยบางรายจะมีอาการนอนกัดฟัน ในช่วงสัปดาห์ที่มีปัญหาเรื่องงาน ในสตรีที่กำลังมีรอบเดือน หรือในผู้ป่วยบางคนก็อาจจะไม่มีระยะเวลา หรือวงจรที่แน่นอนของการนอนกัดฟันก็ได้
หัวข้อ
สาเหตุของการนอนกัดฟัน
มีการศึกษามากมาย ที่พยายามจะอธิบายถึง สาเหตุของอาการนอนกัดฟัน และมีหลักฐานยืนยันแล้วว่า สภาพของจิตใจและอารมณ์ มีส่วนสัมพันธ์กับการนอนกัดฟัน ดังที่กล่าวข้างต้น ระดับอาการของการนอนกัดฟัน จะมีความแตกต่างกันมากในผู้ป่วยแต่ละราย โดยจะมีส่วนสัมพันธ์กับความเครียด ภาวะอารมณ์ และภาวะฉุกเฉินที่มีในชีวิตประจำวัน เช่น การหย่าร้าง การตกงาน หรือช่วงการสอบคัดเลือก เป็นต้น ความวิตกกังวลในเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นก็สามารถทำให้เกิดอาการนอนกัดฟันได้ และเป็นที่รับรู้กันในวงการแพทย์ว่า ประสบการณ์ทางอารมณ์ในช่วงที่เราตื่นนอนอยู่ จะไปมีอิทธิพลต่อช่วงที่เรานอนหลับได้ในหลายๆด้าน แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีท่านใดสามารถหาคำอธิบายถึงสาเหตุของเหตุการณ์นี้ได้ ในอีกทางหนึ่ง กล่าวว่า ผู้ป่วยที่มีอาการนอนกัดฟันนั้น แทบจะไม่มีความผิดปกติทางด้านจิตใจเลย แต่จะมีบุคลิกภาพ และอารมณ์แตกต่างจากคนปกติทั่วไป กล่าวคือ จะมีบุคลิกภาพที่มีแนวโน้มที่จะเกิด หรือเพิ่มความเครียดได้ง่าย เป็นคนที่มีอารมณ์ก้าวร้าว และเป็นคนที่วิตกกังวลหรือ Hyperactive ได้ง่าย แต่มักไม่พบว่ามีความผิดปกติ ของระบบประสาทเข้ามาร่วมด้วย อาการนอนกัดฟัน อาจมีสาเหตุมาจากยาที่รับประทานก็ได้ แต่พบในเปอร์เซ็นที่ต่ำ ยาที่เคยมีรายงานว่าทำให้เกิดอาการนอนกัดฟันได้ คือ แอมเฟตามีนที่ใช้ร่วมกับ L-dopa , ยา Fenfluramine ซึ่งเป็น Amphetamines derive และมีรายงานว่า พบการนอนกัดฟันในผู้ป่วยที่เป็นโรค Tardive Dyskinesia ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลมาจากการใช้ยา Phenothiazine เป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ จะสามารถทำให้เกิดอาการนอนกัดฟันได้ ผู้ป่วยเป็นจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าตัวเองมีอาการนอนกัดฟันอยู่ พบว่ามีเพียง 10% ของผู้ใหญ่และ 5% ของเด็กที่นอนกัดฟันเท่านั้นที่ทราบว่าตัวเองมีอาการนอนกัดฟัน ซึ่งคนเหล่านั้นมักจะทราบว่าตัวเองนอนกัดฟันจากการได้ยินเสียงนอนกัดฟันของตัวเอง หรือจากเพื่อนหรือคนที่นอนใกล้ๆแจ้งให้ทราบ อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่มีอาการนอนกัดฟันทั้งหมด จะมีเพียง 20% เท่านั้นที่จะทำให้เกิดเสียงที่สามารถได้ยินได้ ดังนั้นการที่จะให้การวินิจฉัยว่าตัวเองนอนกัดฟันนั้น จึงจำเป็นที่ต้องอาศัยการตรวจอย่างละเอียดโดยทันตแพทย์ โดยทันตแพทย์จะพิจารณาองค์ประกอบอีกหลายๆอย่าง อาทิเช่น ลักษณะการสึกของฟัน ลักษณะของกล้ามเนี้อ และอื่นๆ โดยเฉพาะอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อขากรรไกรเมื่อตื่นนอนขึ้นมา มักจะเป็นลักษณะที่พบมากในคนที่นอนกัดฟัน
การรักษาการนอนกัดฟัน
การรักษาอาการนอนกัดฟันนั้น พบว่าโดยมากจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทั้งนี้เนื่องมาจากความเครียด ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอาการนอนกัดฟันนั้น จะมีความเกี่ยวเนื่องเป็นวงจร ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดซ้ำ และมีความจำเป็นที่ต้องกลับมารับการรักษาอีก การรักษาการนอนกัดฟันนั้น มีตั้งแต่การใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ การใส่ Nightguard ไปจนถึงการใช้เฝือกการสบฟัน (Occlusal Splint) ซึ่งพบว่าประมาณ 50% ของผู้ป่วยจะมีอาการนอนกัดฟันลดลงหลังจากใส่เฝือกการสบฟันไประยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามการรักษาที่มีในผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีวิธีแตกต่างกันออกไป ลองปรึกษาทันตแพทย์ของท่านถึงการรักษาที่เหมาะสม