วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

โรคที่มากับหน้าร้อน

-->
เมืองไทยหน้าร้อน นอกจากอากาศจะร้อนจัดแล้ว โรคที่มากับฤดูร้อนจำเป็นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น


อาหารเป็นพิษ
สาเหตุ : โรคทางเดินอาหารที่พบบ่อยมาก เนื่องจากสารพิษ (Toxin) จากแบคทีเรียตกค้างอยู่ในอาหารที่ไม่สะอาดพอ สุกๆ ดิบๆ หรือบูดเสีย ทำให้เกิดปัญหาท้องเสียได้

การรักษา : ส่วนใหญ่หากเป็นไม่มากจะถ่ายเป็นน้ำไม่มีมูกเลือด ไม่มีไข้ หายได้เอง แต่ถ้าเป็นมากต้องได้รับน้ำเกลือเสริม อาจอยู่ในรูปแบบของการดื่ม หรือการให้ทางเส้นเลือดแล้วแต่ความรุนแรง

อหิวาตกโรค
สาเหตุ : โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้ออหิวาต์จะไม่มีอาการหรือมีไม่มาก แต่ในรายที่ติดเชื้อรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดอาการ เนื่องจากมีการสูญเสียของน้ำและเกลือแร่ในปริมาณมาก โรคนี้ติดต่อได้โดยการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อเข้าไป

การรักษา : ควรทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไปกับการถ่ายอุจจาระและการอาเจียน เช่น ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือ แต่หากรุนแรงต้องให้ทางเส้นเลือด ควบคู่กับการใช้ยาปฏิชีวนะ

ไข้ไทฟอยด์
สาเหตุ : การติดต่อมักเกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อในอาหารหรือน้ำดื่ม ซึ่งไข้ไทฟอยด์จะมีอาการแบบเฉียบพลัน รายที่เป็นรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อ Samonella typhi อาการของโรคจะมีไข้ ปวดเนื้อปวดตัว คลื่นไส้ หัวใจเต้นช้าลง (โดยทั่วไปแล้วเวลามีไข้จะเต้นเร็วขึ้น) หากให้แพทย์ตรวจอาจพบว่าม้ามโต บริเวณใต้ชายโครงด้านซ้าย ต้องใช้การตรวจเลือดยืนยันว่าเป็นโรคนี้จริง

การรักษา : จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม ส่วนการป้องกันสามารถทำได้โดยการใช้วัคซีนซึ่งมีทั้งในรูปของการรับประทานหรือฉีด แต่การป้องกันไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือการระมัดระวังเรื่องอาหารและน้ำดื่ม

ไวรัสตับอักเสบชนิด A
สาเหตุ : โดยทั่วไปจะติดต่อผ่านทางคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง โดยการปนเปื้อนไปกับน้ำ น้ำแข็ง ผลไม้ หรืออาหารที่รับประทานโดยไม่ผ่านการหุงต้ม โดยอาการที่เกิดขึ้นคือ มีไข้ ปวดเนื้อปวดตัว คลื่นไส้ อาเจียน ไม่สบายภายในท้อง จากนั้น 2-3 วันก็จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง คนที่เป็นโรคอาจไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย 1-2 อาทิตย์ กรณีที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการนานหลายเดือน
การรักษา : เชื้อไวรัสตับอักเสบ A จะตายเมื่อโดนความร้อน ด้วยการต้มหรือหุงที่อุณหภูมิ 85 องศาเซลเซียส อย่างน้อยหนึ่งนาที การป้องกันสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีน

Tips กินน้ำให้ปลอดภัยในหน้าร้อน
ในหน้าร้อนควรดื่มน้ำให้มากๆ ยกเว้นผู้ป่วยโรคไตหรือโรคหัวใจบางชนิด เพราะผู้เป็นโรคไตเมื่อดื่มน้ำถึงระดับหนึ่งจะไม่สามารถปัสสาวะออกได้ หรือปัสสาวะได้เพียงเล็กน้อย หากดื่มน้ำเข้าไปมาก จะทำให้น้ำคั่งและท่วมปอดได้ ส่วนโรคหัวใจวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง หากดื่มน้ำเข้าไปมากๆ จะทำให้ปริมาณเลือดในร่างกายมาก ทำให้หัวใจต้องสูบฉีดมากขึ้น ก็จะทำให้หัวใจแย่ลง

การดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการในหน้าร้อน คือวันละประมาณ 1.5-2 ลิตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น